การเดินทาง
รถยนต์ส่วนตัว พระธาตุกู่จาน ตั้งอยู่ที่บ้านงิ้ว ตำบลกู่จาน ห่างจากตัวอำเภอ 12 กิโลเมตร
พระธาตุกู่จาน ตั้งอยู่ที่วัดบ้านกู่จาน ต.กู่จาน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร องค์พระธาตุกู่จาน กว้าง 5.10 เมตร สูง 15 เมตร ลักษณะคล้ายคลึงกับองค์พระธาตุพนม ต่างกันเพียงขนาดซึ่งพระธาตุกู่จานมีขนาดเล็กกว่า ตั้งอยู่กลางลานวัดกู่จาน เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ สักการะของชาวเมืองยโสธรและจังหวัดใกล้เคียง
ประวัติพระธาตุกู่จาน
ตามหนังสือประวัติของวัดเล่าว่า.. เมื่อปี พ.ศ. 7 หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้วเป็นเวลา 7 ปี พระมหากัสสปะจึงได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาแจกจ่ายในดินแดนแถบนี้ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธศาสนา ได้แผ่ขยายลงมาในดินแดนแถบนี้ไม่นาน พระมหากัสสปะ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระอุรังคะธาตุ ( หน้าอก ) ไปบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า คือ องค์พระธาตุพนม ในปัจจุบัน
พุทธศาสนิกชนทั้งหลายเมื่อทราบข่าวว่า มีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาแจกจ่าย เหล่าหัวเมืองน้อยใหญ่ต่างก็อยากได้ เพื่อนำไปประดิษฐานยังบ้านเมืองของตนไว้เป็นสิริมงคล และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจต่อไป จึงได้ส่งตัวแทนของเมืองไป บางหัวเมืองเจ้าเมืองก็จะเดินทางมาด้วยตนเอง เพื่อรับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ทุกคนต่างก็มุ่งตรงไปยังสำนักของพระมหากัสสปะ
แต่หลายเมืองก็ต้องผิดหวังเนื่องจาก พระบรมสารีริกธาตุมีจำนวนน้อย และได้แจกจ่ายไปก่อนหมดแล้ว กลุ่มที่ได้รับส่วนแบ่งไปนั้น ได้แก่ กลุ่มของ พระยาคำแดง ซึ่งเป็นกลุ่มหัวเมืองฝ่ายเหนือ ส่วนกลุ่มของ พระยาพุทธ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทางหัวเมืองฝ่ายใต้ ไม่ได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ จึงเดินทางไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุจากพระยาคำแดง
พระยาคำแดง เมื่อได้รับส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมาแล้วก็ไม่อยากจะแบ่งให้ใครอีก จึงพูดจาบ่ายเบี่ยงกับพระยาพุทธว่า
“ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะให้ เรามาตกลงกันก่อน ถ้าท่านได้ไปแล้วท่านจะเอาไปเก็บรักษาไว้อย่างไรจึงจะเหมาะสม ส่วนเราจะสร้างเป็นเจดีย์สูงเทียมฟ้า เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ”
พระยาพุทธจึงพูดขึ้นว่าเราก็เช่นกัน พระยาคำแดงได้โอกาสที่จะบ่ายเบี่ยงก็บอกว่า
“ถ้าเช่นนั้นเรามาแข่งกันก่อสร้างเจดีย์ว่าใครเสร็จก่อนกัน แต่ถ้าหากใครแพ้ ต้องยอมเป็นเมืองขึ้นของกันและกันแต่มีข้อแม้อยู่ว่าในการก่อสร้างเจดีย์ครั้งนี้ ต้องใช้คนอย่างมากไม่เกิน 6 คน”
เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว พระยาพุทธจึงได้เดินทางกลับมาประชุมเจ้าเมืองฝ่ายใต้ เพื่อทำการก่อสร้างเจดีย์ตามข้อตกลง และได้ทำการคัดเลือกเอาเฉพาะคนสนิทที่เป็นช่างที่มีฝีมือ ดังมีรายนามผู้ร่วมก่อสร้างเจดีย์ครั้งนี้ ได้แก่ 1. พระยาพุทธ 2. พระยาธรรม 3. พระยาแดง 4. พระยาเขียว 5. พระยาคำ 6. พระยาคำใบ ในการก่อสร้างครั้งนี้ไม่ได้ให้ชาวบ้านเข้าไปยุ่งเกี่ยวและขัดขวางเด็ดขาด
กลุ่มของพระยาพุทธ เมื่อทำการก่อสร้างไปได้ครึ่งหนึ่งได้ปรึกษากันว่า
“ถ้าพระยาคำแดงไม่ยอมแบ่งพระบรมสาริกธาตุให้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ หรือ หากเราแพ้พระยาคำแดง ในการก่อสร้างเจดีย์ ครั้งนี้ แล้วเราจะเอาอะไรมาประดิษฐานไว้ในเจดีย์ที่กลุ่มของพวกเราสร้างขึ้น หรือว่า พวกเราทั้งหกคนนี้จะขึ้นไปแย่งชิงเอาพระบรมารีริกธาตุมาไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ สร้างต่อไปจนแล้วเสร็จ”
เมื่อพระยาทั้งหกคน ได้ทำการตกลงกันเช่นนี้แล้วจึงได้ออกเดินทางไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งเป็นเมืองของพระยาคำแดง และเข้าบุกโจมตีเพื่อแย่งชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุ โดยไม่ให้กลุ่มของพระยาคำแดงรู้ตัวว่าเป็นกลุ่มใด แต่พระยาทั้งหกหารู้ไม่ว่า พระยาคำแดงได้วางมาตรการในการรักษาความปลอดภัยเพื่อคุ้มกันอย่างเข้มแข็ง เมื่อพระยาทั้งหกคนบุกเข้ารบอย่างดุเดือด แต่ก็ไม่สามารถบุกโจมตีเข้าไปยังที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุได้ เนื่องจากมีกำลังพลน้อยกว่า
ผลปรากฏว่า ในการรบครั้งนี้ฝ่ายพระยาพุทธ ซึ่งมีเพียงหกคนจำเป็นต้องถอยกลับมา และได้ทราบว่าสมาชิกในกลุ่มของตนเสียชีวิตไปหนึ่งคนแล้ว คือ “พระยาคำ” เป็นอันว่าผู้สร้างพระธาตุกู่จานยังเหลือเพียง 5 คน และเมื่อเห็นว่ามีกำลังน้อยกว่าคงสู้ต่อไปไม่ได้แล้ว จึงเดินทางกลับมาเพื่อเตรียมกำลังพลที่จะไปแย่งชิงพระบรมสารีริกให้ได้ต่อไป
ฝ่ายพระยาคำแดง ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดมาบุกโจมตีได้แต่คิดสงสัยอยู่ในใจเท่านั้น จึงสั่งคุ้มกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุเข้มแข็งมากกว่าเดิม
กลุ่มพระยาพุทธ เมื่อเดินทางกลับมาถิ่นของตน จึงได้ทำการคัดเลือกบุคคลผู้ที่มีฝีมือในการรบอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้าฟันไม่เข้า และเมื่อรวบรวมพลพรรคได้จำนวนหนึ่ง จึงได้มุ่งไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนืออีกครั้ง เพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุจากพระยาคำแดงเป็นครั้งที่สอง โดยไม่ให้กลุ่มของพระยาคำแดงทราบล่วงหน้า ว่าเป็นกลุ่มใดที่บุกเข้าโจมตีครั้งนี้
แต่กลุ่มของพระยาพุทธก็ได้รับความผิดหวังอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุมายังเมืองของตนได้ เนื่องจากกลุ่มทหารที่เกณฑ์เอาไว้นั้น กลับเสียชีวิตทั้งหมด ที่เหลือและรอดชีวิตกลับมา ล้วนแต่เป็นเจ้าเมือง หรือพระยาทั้งห้าเท่านั้น
เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จก็กลับมายังเมืองของตนเพื่อวางแผนการใหม่ แม้จะต้องเสียกำลังคนสักเท่าไรก็ตาม จะต้องนำพระบรมสารีริกธาตุมายังเมืองของตนให้ได้ โดยครั้งนี้ วางแผนไว้ว่าจะแบ่งกำลังออกเป็น 5 ส่วนเท่า ๆ กัน ในส่วนของพระยาพุทธนั้น ยังไม่เข้าโจมตี แต่จะรอให้พระยาทั้ง 4 นั้นเข้าโจมตีก่อน แล้วจึงค่อยลอบเข้าโจมตีด้านหลัง
เมื่อได้วางแผนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้คัดเลือกทหารตามจำนวนที่ตนต้องการ แล้วจึงรีบยกกองกำลังขึ้นไปยังหัวเมืองฝ่ายเหนืออีกครั้ง และเมื่อไปถึงเมืองของพระยาคำแดงก็รีบบุกเข้าโจมตีทั้ง 4 ทิศ พร้อมกัน แล้วให้เคลื่อนกำลังไปสมทบกันที่ด้านหน้า โดยปล่อยให้กองกำลังของพระยาพุทธตั้งทัพรออยู่ด้านหลัง จึงทำให้ทหารของพระยาคำแดงหลงกลกระบวนยุทธ คิดว่าพระยาทั้งสี่นั้นเข้าตีเฉพาะด้านหน้าเท่านั้น ก็พากันออกมาตั้งรับด้านหน้ากันหมดไม่ได้ระวังด้านหลัง พระยาพุทธซึ่งคอยทีท่าอยู่แล้ว จึงได้พังประตูด้านหลังเข้าไปยังที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้บรรจุไว้ในผอบทองคำและเขียนอักษรกำกับเอาไว้ ซึ่งพระยาพุทธได้มาทั้งหมด 6 ผอบ ดังนี้
1. พระบรมสารีริกธาตุ พระเศียร
2. พระบรมสารีริกธาตุ พระอุระ
3. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระหัตถ์ขวา
4. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระหัตถ์ซ้าย
5. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระบาทขวา
6. พระบรมสารีริกธาตุ นิ้วพระบาทซ้าย
ในแต่ละชิ้นส่วนของพระบรมสารีริกธาตุนั้น มีขนาดเพียงเท่าเมล็ดงา และพระยาทั้ง 5 เมื่อทำการ สำเร็จแล้ว จึงได้พาพลทหารถอยกลับมายังเมืองของตน และหลังจากนั้นจึงทำการก่อสร้างเจดีย์ดังกล่าวจนกระทั่งสำเร็จ พร้อมทั้งนำเอาพระบรมสารีริกธาตุทั้งหกผอบนั้น ไปประดิษฐานไว้ในเจดีย์เป็นที่เรียบร้อย
แต่ในการสร้างพระเจดีย์ครั้งนี้นั้น จึงเป็นที่คับแค้นใจของเหล่าประชาราษฏร์ส่วนใหญ่ยิ่งนัก เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง ด้วยเหตุนี้พระยาทั้งห้าจึงได้ปรึกษาหารือกันว่า
“พวกเราต้องสร้างใหม่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อที่จะให้ราษฎรในแต่ละหัวเมืองได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง แต่ในการก่อสร้างครั้งนี้ จะต้องสร้างเป็นวิหารเท่านั้น เพื่อเป็นที่เก็บสิ่งของ และจารึกประวัติพระธาตุไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา และเรียนรู้”
เมื่อประชาชนในหัวเมืองต่าง ๆ ทราบข่าวแล้ว ต่างก็พลอยยินดีปรีดายิ่งนัก ที่จะได้ร่วมสร้างวิหาร และวิหารนั้นจะต้องทำด้วยหิน แต่หินนั้นจะต้องเป็นหินทะเล เมื่อตกลงกันแล้วพระยาทั้งห้าต่างก็แยกย้ายไปบอกข่าวแก่ประชาชนของตนให้ไปชักลากหินจากทะเล เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างวิหาร โดยจัดแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ
ฝ่ายพระยาคำแดงหัวเมืองฝ่ายเหนือนั้นโกรธแค้นมากและทราบข่าวว่า ผู้ที่มาแย่งชิงพระสารีริกธาตุเป็นผู้ใด จึงได้ยกกำลังกองทัพลงมายังหัวเมืองฝ่ายใต้ เพื่อเจรจาขอร่วมสร้างวิหารด้วย เพราะรู้ว่ากลุ่มของพระยาทั้งห้าได้ไปแย่งชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุจากตน แต่พระยาทั้งห้าไม่ยอม จึงได้เกิดการต่อสู้รบกันอีกครั้งอย่างรุนแรง
แต่เนื่องจากกลุ่มพระยาพุทธไม่ได้เตรียมกองกำลังไว้จึงเสียเปรียบ ผลปรากฏว่าพระยาทั้งหมดได้จบชีวิตลงนั้นคือ “พระยาคำแดง” ได้ถูกพระยาพุทธฟันด้วยทวนคอขาด ( คอกุ้น ) ส่วนพระยาฝ่ายใต้ก็จบชีวิตลงเช่นกัน ศพทั้งหมดได้ถูกเผาและนำไปฝังไว้โดยห่างจากองค์พระธาตุกู่จาน ประมาณ 2-3 เมตร ทั้ง 4 ทิศ
สนามรบครั้งนั้นก็คือ ดอนกู่ ในปัจจุบัน อยู่ทิศเหนือติด “บ้านงิ้ว” ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาต่าง ๆ และพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ และยังมีหินเรียงกันเป็นชั้น ๆ อยู่ ( ใบเสมา ) อยู่ทางทิศเหนือของบ้านกู่จาน และห่างจากองค์พระธาตุกู่จานประมาณ 1 กิโลเมตร
ส่วนศพของพระยาคำแดง ประชาชนชาวเมืองได้ช่วยกันเผา และต่อมาอนุชนรุ่นหลังที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ช่วยกันแกะสลักเป็นเทวรูปคอขาดด้วยหินศิลาแลงทรายละเอียด ยุคสมัยลพบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นเทวรูปคอขาด และได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดสมบูรณ์พัฒนา บ้านสมบูรณ์พัฒนา หมู่ 3 ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาภายหลังอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านกู่จาน และอยู่ทางทิศใต้ของบ้านสมบูรณ์พัฒนา ( เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยกำนันตำบลกู่จาน : นายสมบูรณ์ พอกพูน )
ส่วนข้าวของเงินทองของพระยาคำแดง ซึ่งนำลงมาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ และของพระยาทั้งห้าของหัวเมืองฝ่ายใต้ได้ถูกสาปให้จมธรณี เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดทำลาย และนำไปเป็นสมบัติส่วนตัว โดยคำสาปนี้จะสลายไปก็ต่อเมื่อพระยาทั้งหมดนั้น ได้กลับมาเกิดใหม่พร้อมกัน และเมื่อนั้นข้าวของเงินทองทั้งหมดก็จะผุดขึ้นมาอีกครั้ง และได้แบ่งปันเป็นส่วน ๆ จำนวนเดิม ตามที่ได้สะสมเอาไว้ในภพก่อน ๆ
ส่วนชาวเมืองหัวเมืองฝ่ายใต้ ที่พากันไปขนหินทะเลนั้น บางกลุ่มก็ยังถึง และบางกลุ่มก็ไปยังไม่ถึง หรือ บางกลุ่มก็กลับมาถึงครึ่งทาง และบางกลุ่มได้ทราบข่าวว่า เจ้าเมืองของตนตายก็พากันทิ้งหินทิ้งทรายไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเราเห็นอยู่หลายแห่ง
ดอนกู่ ( กู่ ) ได้เกิดศึกใหญ่มีคนตายมากมายชาวเมืองที่เหลืออยู่ก็พลอยเสียขวัญ จึงพากันอพยพถิ่นฐานไปหาที่สร้างเมืองใหม่ ปล่อยให้พระธาตุกู่จานถูกทอดทิ้งมาตั้งแต่บัดนั้น จนกลายเป็นป่าทึบตามธรรมชาติเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด หลายชั่วอายุคนที่ไม่อาจนับได้ จนกระทั่งบรรพบุรุษที่เดินทางมาจากบ้านปรี่เชียงหมี มาพบเข้าเห็นว่าทำเลดีเหมาะที่จะตั้งหมู่บ้าน เพราะมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ พื้นดินอุดมสมบูรณ์ จึงได้พากันถากถางป่าเพื่อจะตั้งหมู่บ้าน จนมาพบพระธาตุแต่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาของพระธาตุดังกล่าว
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2521 สามเณรถาวร อินกาย เกิดเห็นอภินิหาริย์พระธาตุกู่จานขึ้น จึงได้เล่าประวัติของพระธาตุกู่จาน เมื่อครั้งการก่อสร้างพระเจดีย์จนสำเร็จได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระยาทั้งห้าก็ได้อธิษฐานไว้ดังนี้
พญาธรรม และ พระยาคำใบ : ชาติหน้าขอให้ได้เป็นพระอรหันต์
พระยาแดง และ พระยาเขียว : ไม่ได้อธิษฐาน หากแต่บุญกุศลที่ทำไว้ก็ส่งผลให้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทิพย์วิมาน มีนางฟ้าแสนหนึ่งเป็นบริวาร
พระยาพุทธ : ไม่ว่าเกิดชาติใดภพใดก็ขอให้ได้มาบูรณะองค์พระธาตุตลอดทุก ๆ ชาติไป
ด้วยเหตุนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2521 จึงได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นกับ สามเณรถาวร อินกาย ซึ่งมีความเชื่อว่า ในอดีตกาลเคยร่วมในการก่อสร้างพระธาตุนี้ด้วย และได้เล่าประวัติความเป็นมาให้ได้บันทึกเอาไว้ ตามที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น
ขอรับรองว่า ข้อความที่ได้เรียบเรียงไว้ข้างต้นนั้น ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นกับ สามเณรถาวร อินกาย เมื่อ ปี พ.ศ.2521 จริง และประกอบกับได้รับการบอกเล่าจากบรรพบุรุษคนเฒ่าคนแก่สืบต่อกันมา
ประเพณีที่น่าสนใจ
ทุกๆ ปี ของวัน เพ็ญ เดือน 6 ชาวตำบลกู่จานจะนำน้ำอบ น้ำหอมไป ทำพิธีสรงน้ำพระธาตุในช่วงเช้า ตอนบ่ายจะไปทำพิธีสรงน้ำ “กู่” หลังจากนั้นจะพากันไปที่หนองสระพัง เพื่อนำน้ำที่หนองสระพังมาทำพิธี สรงน้ำพระธาตุและใบเสมา
ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวนี้ ต้องกระทำเป็นประจำทุกปี มีความเชื่อว่าหากไม่ทำพิธีดังกล่าวแล้วจะทำให้ ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล และได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ความเชื่อนั้นยังคงมี ความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นเมื่อได้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นแล้ว และต้องทำพิธีสรงน้ำพระ ธาตุ, กู่, ใบเสมา อีกครั้งในปีนั้น เป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านกู่จานทุกคนรับทราบและจดจำได้ดีจึงได้ถือปฏิบัติพิธีนี้เป็นประจำ